วันอาทิตย์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2553

ปัญหาสิวๆ ของชายหนุ่ม...


นพ.ประวิตร พิศาลบุตร ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนัง โรคสิวเป็นโรคผิวหนังที่พบบ่อยที่สุด และสร้างความรําคาญใจมากด้วย เพราะส่วนใหญ่เป็นที่ใบหน้า ขอรวบรวมคำถามเกี่ยวกับโรคสิวมาตอบในฉบับนี้นะครับ ยารักษาสิวเสี้ยน

Q. มีสิวเสี้ยนเยอะมาก ปรึกษาร้านขายยาแนะนำให้ใช้ BP (เบ็นซอยล์เปอร์ออกไซด์) และกรดวิตามิน เอ อยากทราบว่ายา 2 ตัวนี้จะทาพร้อมกันได้ไหมครับเจตนิพิฐ / จ.ชลบุรี

A. ยาทา BP และกรดวิตามินเอเป็นยารักษาสิวเสี้ยนที่แพทย์และเภสัชกรมักแนะนำให้ใช้รักษาสิวเสี้ยน แต่ก็มีข้อควรระวังคือห้ามทา BP และ กรดวิตามินเอ ในเวลาเดียวกัน เพราะ BP ทำให้กรดวิตามินเอ ไม่ออกฤทธิ์ จึงต้องเลี่ยงมาทา BP ในช่วงเช้าหรือช่วงบ่ายก่อนล้างหน้า และทากรดวิตามินเอ ก่อนนอน และถ้าใช้ BP หรือกรดวิตามินเออยู่แล้วต้องระมัดระวังในการใช้กรดผลไม้ เพราะยาทุกตัวที่กล่าวมามีโอกาสทำให้ผิวหน้าระคายเคืองได้ง่าย ถ้าใช้ร่วมกันยิ่งทำให้เสี่ยงต่อการเกิดผิวแพ้ระคายเคือง โดยเฉพาะในช่วงหน้าหนาวหรือในคนที่อยู่ห้องแอร์เพราะผิวมักแห้งอยู่แล้ว การใช้กรดวิตามินเอนั้นเพื่อความปลอดภัยควรเริ่มต้นด้วยความเข้มข้นต่ำก่อนแล้วจึงค่อยๆ เพิ่มความเข้มข้น นอกจากนั้นบางคนในช่วงแรกของการใช้กรดวิตามินเอนอกจากจะต้องใช้ความเข้มข้นต่ำแล้วยังอาจต้องทายาวันเว้นวันไปจนกว่าผิวจะชินยาแล้วจึงทายาทุกวันได้ ถ้าใช้ยากลุ่ม BP หรือกรดวิตามินเอแล้วผิวแห้งระคายเคืองมากควรปรึกษาแพทย์ โดยทั่วไปยากลุ่มนี้ในรูปของเจลหรือสารละลายจะทำให้ผิวระคายเคืองได้ง่ายกว่าในรูปของครีม และถ้าใช้กรดวิตามินเอทามานานกว่า 2 เดือนแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นควรปรึกษาแพทย์ผิวหนังเพื่อเลือกใช้ยาตัวอื่นที่เหมาะสมมากกว่านะครับ

ถามเรื่องการรักษาสิว

Q. ผมเป็นสิว เป็นๆ หายๆ มานาน บางครั้งซื้อยามาใช้เอง บางครั้งไปพบแพทย์ ได้ทั้งยาทา ยากิน บางครั้งแต่ละคลินิกก็ให้ยาไม่เหมือนกัน ล่าสุดมีการแนะนำให้ฉายแสงเพื่อรักษาสิว จึงอยากทราบเกี่ยวกับการรักษาสิวครับอัศนัย / จ.กรุงเทพฯ

A. โรคสิวเป็นโรคผิวหนังที่พบบ่อยที่สุด ไม่ได้เป็นแค่ความสวยความงาม จึงมีแนวทางการรักษาทางการแพทย์อย่างชัดเจน เมื่อไม่นานมีการประชุมที่สิงคโปร์และได้มีข้อตกลงร่วมกันในแนวทางการรักษาสิวของประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนี้ครับ

1. ยาทาเบนซอยล์ เปอร์ออกไซด์ (Benzoyl peroxide)ถือว่าเป็นยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคสิวที่มีประโยชน์แต่ได้ผลเล็กน้อยต่อสิวชนิดอุดตัน (คอมีโดน) จึงให้ใช้ในสิวที่รุนแรงน้อยไปจนถึงรุนแรงปานกลาง โดยไม่ใช้เพียงตัวเดียวในกรณีของสิวอุดตัน ยาทาตัวนี้ต้องใช้อย่างระมัดระวังและใช้ในความเข้มข้นต่ำ โดยเฉพาะในผู้ที่มีผิวแห้งหรือผิวแพ้ง่าย หรือผิวที่ไวต่อการแพ้อยู่แล้ว

2. ยาทากลุ่มเรตินอยด์ (Retinoid)หรือยาในกลุ่มกรดวิตามินเอ ที่มีหลายยุค จัดว่าได้ผลดีต่อสิวชนิดสิวอุดตันและสิวที่มีการอักเสบ ยังช่วยทำให้รอยดำที่เกิดจากสิวจางลง และมีประสิทธิภาพในการใช้รักษาอย่างต่อเนื่อง ยาชนิดนี้ช่วยการดูดซึมของยาชนิดอื่นๆ ผ่านผิวหนัง ทำให้เกิดการระคายเคืองและแพ้ต่อแสงได้ง่าย ใช้ในกรณีที่เป็นสิวรุนแรงน้อยจนถึงปานกลาง โดยให้ใช้ร่วมกับยาฆ่าเชื้อ (ในรูปของยาทาหรือยารับประทาน) เมื่อเป็นสิวอักเสบ ยากลุ่มนี้ให้ทาเฉพาะบริเวณที่เป็นสิว และให้ใช้ในกรณีที่เป็นสิวอักเสบได้ อาจใช้ในรูปแบบครีมหรือรูปแบบที่พัฒนาเป็นยุคที่ 3 (third generation retinoids) สำหรับผู้ที่มีผิวแห้งหรือผิวแพ้ง่าย และใช้ในรูปแบบเจล สำหรับผู้ที่มีผิวมันเรตินอยด์หรือยาทากรดวิตามินเอยุคที่ 3 ได้แก่ adapalene และ tazarotene

3. ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)มีผลใช้รักษาสิวอักเสบโดยตรง แต่ก็พบปัญหาเชื้อดื้อยาสูงขึ้น พบว่าการใช้ยาปฏิชีวนะร่วมกับเบนซอยล์เปอร์ออกไซด์จะลดปัญหาเชื้อดื้อยาได้ อาจใช้ร่วมกับยาทาชนิดอื่น เช่น ยาละลายขุย (Keratolytic agents) และเรตินอยด์ เพื่อเพิ่มผลการรักษา โดยให้ใช้ทาในกรณีของสิวที่เป็นน้อย ให้ใช้ในช่วงระยะเวลาเท่าที่จำเป็น เพื่อลดปัญหาเชื้อดื้อยา (3 – 4 เดือน) ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาปฏิชีวนะในรูปแบบยารับประทานและรูปแบบยาทาร่วมกัน โดยเฉพาะถ้าเป็นยาคนละชนิด ไม่ควรใช้ยาปฏิชีวนะชนิดทาตัวเดียว (ควรใช้ยาชนิดอื่นร่วมด้วย) และหลีกเลี่ยงการใช้ยาปฏิชีวนะชนิดทาในการรักษาต่อเนื่อง

4. ยารับประทานกลุ่มกรดวิตามินเอ (Isotretinoin) ที่มีชื่อการค้าหลายอย่าง เช่น Roaccutane, Acnotin, Sortret, Isotane ฯลฯ ให้ใช้เฉพาะในโรคสิวหัวช้าง สิวที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาโดยวิธีอื่นๆ และสิวที่เกิดจากความเครียด ผู้ป่วยต้องทราบผลข้างเคียงของยา โดยเฉพาะต้องทราบว่ายาตัวนี้ทำให้ทารกในครรภ์พิการ จึงต้องใช้ยาภายใต้การดูแลของแพทย์ผิวหนังเท่านั้น ต้องไม่ตั้งครรภ์ระหว่างรับยา ต้องหยุดยานาน 1 เดือนขึ้นไปจึงจะตั้งครรภ์ได้ปลอดภัย ต้องไม่บริจาคเลือดและไม่นำยาไปให้ผู้อื่น ยาตัวนี้ตามกฎต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์ผิวหนังเท่านั้น แต่เพราะความละเลยทำให้มียาตัวนี้วางขายตามร้านขายยาหลายแห่ง ยาตัวนี้ต้องให้ต่อเนื่องกันจนได้ขนาดยาสะสมรวม 120 มก. ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เช่น ถ้าน้ำหนักตัว 60 กิโลกรัม ก็ต้องรับประทานยาไปจนครบ 120 x 60 = 7,200 มก. ถ้าทานยาเม็ด 20 มก.ต่อวัน ก็ต้องทานไปจนครบ 7,200 ? 20 = 360 วัน

ถือว่าการรักษาด้วยยาตัวนี้ประสบผลสำเร็จ เมื่อไม่มีสิวเป็นระยะเวลา 4–6 สัปดาห์ บางรายต้องได้ยาหลายคอร์ส โดยต้องเว้นระยะเวลาห่างกัน 2-3 เดือน

สำหรับการรักษาโรคสิวด้วยการฉายแสงนั้น ยังจัดว่าเป็นวิธีใหม่ แต่องค์การอาหารและยา (FDA) ของสหรัฐอเมริกาก็อนุมัติให้ใช้วิธีนี้แล้วครับ เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นสิวอักเสบที่ไม่ต้องการรับประทานยา การฉายแสงและความร้อน (light and heat energy) ไปยังผิวหนังที่เป็นสิวอักเสบ พลังงานจะทำปฏิกิริยากับสารเคมีในแบคทีเรียทำให้เกิดออกซิเจนขึ้นมา เนื่องจากแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดสิวไม่ชอบออกซิเจน จึงนับเป็นวิธีการขจัดเชื้อแบคทีเหนึ่งครับ นอกจากนั้นก็มีเทคนิครักษารอยแผลเป็นจากสิวคือรอยแดง ด่างดำ รอยแผลเป็นหลุมบ่อ และรอยแผลเป็นคีลอยด์ เช่น การทำไอออนโต (Iontophoresis), การฉายแสง เช่น IPL (intensed pulse light), IPL + RF (Aurora หรือ ELOS technic, RF คือ radiofrequency = พลังงานคลื่นวิทยุ), การฉายแสงสี LED (light emitting diodes, L Smart), การขัดหน้า (microdermabrasion), การไถพรวนใบหน้าด้วยลูกกลิ้งหนาม (Dermarolling), การฉีดสเตียรอยด์รักษาคีลอยด์ ซึ่งแพทย์จะเลือกใช้เทคนิคเสริมเหล่านี้ตามความเหมาะสมครับ

เลเซอร์และฉายแสงรักษาสิว

Q. ลูกชายดิฉันอายุ 16 ปี เป็นสิวเห่อมาก จนเจ้าตัวดูเก็บกด แต่ดิฉันและคุณพ่อเขาไม่อยากให้กินยารักษาสิว เคยอ่านโฆษณาพบว่าปัจจุบันมีเลเซอร์และการฉายแสงรักษาสิวอยากขอรายละเอียดค่ะ มลยา / จ.กรุงเทพฯ

A. ปัจจุบันมีการศึกษาและวิจัยเรื่องการใช้เลเซอร์และการฉายแสงรักษาสิวกันมาก แต่ก็ยังไม่ใช่วิถีทางปกติทั่วไปที่ใช้รักษาสิวกันในขณะนี้ เพราะยังมีค่าใช้จ่ายสูงมาก และข้อมูลบางด้านอาจยังไม่เพียงพอ การฉายแสงและใช้เลเซอร์รักษาสิวที่มีการศึกษาและเริ่มใช้รักษาสิวในขณะนี้คือ

1. การฉายแสงสีน้ำเงิน (Blue light therapy) องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาอนุมัติให้ใช้แสงสีน้ำเงินในการรักษาสิวได้ ซึ่งแสงช่วงคลื่นเฉพาะนี้จะฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดสิว เนื่องจากแสงสีน้ำเงินที่ฉายออกมานี้ไม่มีส่วนผสมของรังสียูวีจึงไม่ทำให้ผิวหนังได้รับอันตราย การรักษาด้วยวิธีนี้เหมาะกับผู้ที่เป็นสิวอักเสบธรรมดา แต่ถ้าเป็นสิวอักเสบมากชนิดเป็นถุงซีสต์ที่เรียกว่าสิวหัวช้าง ก็ใช้วิธีนี้ไม่ได้ผล

2. การฉายพลังงานแสงและความร้อน (light and heat energy, LHE) เชื่อว่าการใช้พลังงานแสงและความร้อนจะฆ่าเชื้อแบคทีเรียและลดการทำงานของต่อมไขมัน โดยทำให้ต่อมไขมันหดตัวลง ปัจจุบันองค์การอาหารและยาของสหรัฐอนุมัติให้ใช้แสงสีเขียวร่วมกับความร้อน รักษาสิวที่เป็นน้อยถึงปานกลาง

3. การฉายแสงร่วมกับการทา ALA มีการใช้สารละลาย ALA (aminolevulinic acid) ทาผิวหนังสารละลายตัวนี้จะทำให้ผิวไวต่อแสงมากขึ้น หลังจากทายา 15-60 นาที จะเช็ดยาออกและฉายแสง เนื่องจากสารละลาย ALA ทำให้ผิวไวต่อแสง หลังการรักษาโดยวิธีนี้จึงต้องไม่โดนแดด 48 ชม.

4. การใช้เทคนิค ELOS คือ พลังงานแสงร่วมกับคลื่นวิทยุฉายสิวอักเสบ

5. การใช้ไดโอดเลเซอร์ (Diode laser)

6. การใช้เพาส์ดายเลเซอร์ (Pulsed dye laser)

การใช้การฉายแสงและเลเซอร์รักษาสิวนั้นยังไม่จัดว่าเป็นการรักษาสิวในลำดับแรก เพราะยังมีค่าใช้จ่ายสูง และผลการศึกษายังไม่มากพอว่าได้ผลดีแค่ไหน และผลการรักษาอยู่ได้นานแค่ไหนครับ

ไม่มีความคิดเห็น: